ดัลลัส วันที่ฟ้าอเมริกามืดมิด(ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป    (21 กุมภาพันธ์  2557)

ดัลลัส  วันที่ฟ้าอเมริกามืดมิด(ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หากสามารถนั่งไทม์ แมชชีน  หรือ  ยานย้อนเวลา กลับไปยัง ถนนเอลม์ ในเมืองดัลลัส  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1963  ก็จะได้ภาพเหตุการณ์ใกล้เคียงกับที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟัง


(ประธานาธิบดี และ สตรีหมายเลข 1 และ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส อยู่แถวหน้า)

               เหตุการณ์ทั้งหมดนี้  เก็บความมาจากเอกสารหลายแหล่งด้วยกัน 

               รถของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเอลม์เมื่อเวลา 12.29 น.   มีประชาชนยืนรออยู่สองข้างถนนไม่มากนัก  เพราะกำลังใกล้จะขึ้นฟรีเวย์แล้ว    

ทันใดนั้น  ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น


(ร่างของประธานาธิบดีเอนลงมา  คงจะเป็นตอนที่ถูกกระสุนลูกที่ 1)

               นางคอนเนลลี ภริยาของผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ให้การว่า   เธอได้ยินเสียดังกล่าวมาจากข้างหลัง  จึงหันหลังกลับมามองที่ประธานาธิบดี  เห็นเคนเนดี้ ยกแขนขึ้นและใช้มือ ปิดหน้าและกุมที่คอของตัวเอง

               นางคอนเนลลี ได้ยินเสียงระเบิดอีกครั้งตามมา  แล้วเธอก็ได้ยินเสียงร้องของสามีของนางด้วย    เธอจึงหันไปมองสามีที่นั่งอยู่ข้างๆ  แล้วเธอก็ได้ยินเสียงระเบิดอีกครั้งตามมา  

               เธอมองเห็นภายในรถเต็มไปด้วยเศษกะโหลก  เลือด  และ เศษชิ้นส่วนของสมองกระเด็นกระจัดกระจายไปทั่ว  ซึ่งเป็นของประธานาธิบดี  


(นักสืบ คลินต์ ฮิลล์ กระโดดขึ้นไปที่หลังรถของประธานาธิบดี)

               ตอนกระสุนนัดที่หนึ่งดังขึ้น  ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส เอี้ยวตัวไปทางขวาเพื่อจะหันกลับมาดูประธานาธิบดี   แต่ไม่เห็นจึงพลิกตัวเอี้ยวกลับไปทางซ้ายของตัวเอง  จังหวะนั้นเอง   เขาก็รู้สึกเจ็บแปลบที่แผ่นหลังด้านขวา   ซึ่งน่าจะเกิดจากลูกกระสุนนัดที่ 2  นั่นเอง

               ผู้ว่าการรัฐฯ คอนเนลลี  ร้องเสียงดังขึ้นมาทันทีว่า   “ไม่ ไม่ ไม่  พระเจ้า  พวกมันจะฆ่าเราทั้งหมด” (OH  NO , NO , NO   MY GOD , THEY ARE GOING  TO KILL US ALL)

               กระสุนนัดนี้ทะลุออกใต้หัวนมด้านขวา   เจาะเข้าไปที่แขนตรงบริเวณใต้ข้อมือขวา   แล้วกระสุนนัดนี้ก็ไปสิ้นฤทธิ์ในท่อนบนของขาขวาของเขา   

               ตอนที่กระสุนนัดแรกระเบิดขึ้น    ท่านประธานาธิบดี กำลังโบกมือขวาที่วางอยู่บนด้านข้างของประตูรถให้กับผู้คนที่มาต้อนรับ  กระสุนนัดนั้นเจาะเข้าไปที่ด้านหลังของคอ  ทะลุหลอดลมบริเวณใต้กล่องเสียงลงมาหน่อยหนึ่ง

               เคนเนดี้ ยกมือขึ้นมาปิดที่ใบหน้า และ ที่คอของตนเอง   ตัวเอนไปข้างหน้าด้านซ้ายไปหาสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง   แจกเกอร์ลีน หันมามองสามี แล้วเอาแขนโอบสามีด้วยความเป็นห่วง 

               คณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้  ซึ่งมีอยู่หลายชุดด้วยกัน เช่น  HOUSE SELECT COMMITTEE  และ  วอร์เรน คอมมิชชั่น (WARREN COMMISSION)  มีความเห็นแตกต่างกันไปในรายละเอียด  เช่น  กระสุนถูกยิงออกมากี่นัด   บ้างก็ว่า 3  บ้างก็ว่า  4  

แต่ทั้งหมดสรุปตรงกันว่า   มีกระสุน 2 นัดคือ  นัดที่ 1 และ ที่ 3 ที่ยิงถูกเคนเนดี้   และ กระสุนนัดที่ 3 นี่เอง  ที่เป็นกระสุนนัดปลิดชีพของประธานาธิบดี 


(แนวรั้วทำด้วยไม้ที่อยู่บนเนินด้านขวาของขบวนรถ ที่มีบางคนเชื่อว่า  ปืนอีกกระบอกถูกยิงมาจากที่นี่)

และกระสุนนัดที่ 3 นี่เอง  ที่ยังเป็นปริศนาว่า   ยิงมาจากที่ไหน   บ้างก็ตั้งทฤษฎีว่า  ถูกยิงมาจากด้านขวาของประธานาธิบดี  ตรงบริเวณด้านหลังรั้วไม้บนเนิน  ซึ่งกระสุนนัดนี้เจาะเข้าที่ศรีษะของท่านประธานาธิบดีพอดี  และส่งผลให้เกิดเศษกะโหลก  เลือด และ สมองกระเด็นกระจัดกระจายไปทั่วรถ

นักสืบพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย ที่ชื่อ คลินต์ ฮิลล์(CLINT HILL) ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามหลังรถของประธานาธิบดี รีบทิ้งรถจักรยานยนต์ของตัวเอง วิ่งตามรถของประธานาธิบดีแล้วกระโดดขึ้นเกาะกระโปรงหลัง  เป็นจังหวะเดียวกันกับที่  สตรีหมายเลข 1 ปีขึ้นมาจากที่นั่ง แล้วคลานไปด้านหลังรถ   โดยที่เธอเองก็ไม่รู้ว่า   ทำไปทำไม

นักสืบฮิลล์  รายงานต่อคณะกรรมการวอร์เรน ว่า   เขาคิดว่า  สตรีหมายเลข 1 กำลังคลานเพื่อจะไปเก็บชิ้นส่วนของกะโหลกศรีษะของท่านประธานาธิบดีที่กระเด็นออกไป 

จากนั้น   รถของประธานาธิบดีก็รีบรุดไปยังโรงพยาบาลพาร์ค แลนด์


(สตรีหมายเลขหนึ่ง รับศพของประธานาธิบดี  หลังจากการผ่าชันสูตรที่โรงพยาบาล)

หลังจากนั้นเพียงชั่วโมงเศษ  ตำรวจก็สามารถจับกุมตัวชายผู้ต้องสงสัย  ที่คาดว่าน่าจะเป็นฆาตกรผู้สังหารประธานาธิบดีได้ในโรงภาพยนต์   ชื่อของเขาคือ  ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (LEE HARVEY OSWALD)  


(ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ถูกสังหาร  ว่ากันว่าเป็นการฆ่าปิดปาก  เป็นการปิดคดีการลอบสังหารที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ลง)

แต่ก็มีหลายทฤษฎีบอกว่า  ออสวอลด์ เป็นเพียงแพะรับบาปตัวหนึ่งเท่านั้น 


(หลังจากลงเครื่องบินไปเพียง 2 ชั่วโมงเศษ  ประธานาธิบดีก็ถูกลำเลียงขึ้นเครื่องบินอีกครั้ง)

อย่างไรก็ตาม   เบื้องหลังของการลอบสังหารครั้งนี้ ก็ถูกปิดลงกลายเป็นความดำมืดไปตลอดกาล   เพราะวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1963  หรือ หลังเกิดเหตุการณ์เพียง 2 วัน  ออสวอลด์ ก็ถูก แจ๊ค รูบี้(JACK RUBY)  ดักสังหารด้วยปืนพกในระหว่างถูกตำรวจนำตัวจะไปส่งที่คุก  


(14.38 น. รองประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน  สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบนเครื่องบิน แอร์ ฟอร์ซ วัน ก่อนที่เครื่องบินจะออกจากสนามบินเลิฟฟิลด์  โดยมี อดีตสภาพสตรีหมายเลข 1 เป็นพยาน)

เวลาแห่งความโศกเศร้า  เวลาแห่งการสูญเสีย ผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี  แต่ดูเหมือนว่า  ความทรงจำในเรื่องดังกล่าวยังแจ่มชัดมาก  เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้


(พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น)

แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นเพียงชั่วไม่กี่วินาที   แต่สำหรับชาวอเมริกัน   มันเหมือนฝันร้ายที่ยาวนาน  และอาจจะยังตามหลอกหลอนแม้จนทุกวันนี้   และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า   ไม่ว่าโลกจะเจริญแค่ไหน   มนุษย์เราก็ยังโหดร้ายพอๆกับมนุษย์ในยุคโบราณ   อาจจะแตกต่างกันก็เพียงอาวุธที่ใช้เท่านั้น 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

2 Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *