ภูฐาน – วัดรังเสือสอนธรรมะ

ซอกซอนตะลอนไป   (23 สิงหาคม 2556)

ภูฐาน  – วัดรังเสือสอนธรรมะ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ถ้าไปภูฐาน  แล้วไม่ไปวัดรังเสือ ก็ไม่อาจพูดได้ว่าไปภูฐานมาแล้ว 

               ถึงแม้ว่า  ภูฐานในวันนี้จะแตกต่างจากภูฐานเมื่อ 20 ปีที่แล้วไปมากก็ตาม   แต่ผมก็ยังประทับใจภูฐานทุกครั้งที่ได้ไปเยือน

               ปฎิเสธไม่ได้ว่า  ความเจริญทางด้านวัตถุที่เริ่มจะไหลเข้าไปสู่ประเทศที่วัดความเจริญด้วย “ความสุขมวลรวมในประเทศ”  แทนที่จะวัดด้วย “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ”   ก็ทำให้โฉมหน้าของภูฐานเปลี่ยนไปบ้าง

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   ในเมืองทิมพู ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ  ที่มีรถราป้ายแดงวิ่งกันเต็มเมืองจนไม่มีที่จอด

(เห็นรถยนต์ป้ายแดงเยอะแยะ  นึกว่าโครงการรถคันแรกขยายมาถึงที่นี่)

               ตอนแรกตกใจนึกว่า   ภูฐาน ใช้นโยบายรถยนต์คันแรกแบบเดียวกับประเทศไทยด้วยหรือ   แต่อันที่จริงก็คือ  รถยนต์ของเอกชนในประเทศภูฐานใช้ป้ายแดงกันครับ

               แต่กระนั้น   วิถีชีวิตของชาวภูฐานก็ยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก   ยังคงอยู่กับธรรมชาติ  และ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรพื้นฐานที่มุ่งหน้าไปสู่การไม่ใช้สารเคมี   เพราะประเทศภูฐานมีนโยบาย  ผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซนต์ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

               เราจึงทานผักและผลไม้ของภูฐานได้อย่างสบายใจ   ไม่ว่าจะเป็น  ข้าวสีแดงของเมืองพาโร   แอปเปิลที่กำลังสุก   เป็นต้น

               แต่ไฮไลต์ของการไปภูฐานก็คือ   การขึ้นไปนมัสการวัดทักซัง  หรือ  วัดรังเสือที่เมืองพาโร นั่นเอง

(วัดรังเสือ  มองจากจุดพักชมวิวระหว่างทาง)

               เนื่องจากวัดรังเสือตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลที่ 3150 เมตร   หักลบจากความสูงของเมืองพาโรที่ 2200 เมตรจากระดับน้ำทะเล   ก็หมายความว่า   เราจะต้องขึ้นเขาไปอีกประมาณ 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

               ช่วงแรกของเราจึงต้องขี่ข้าขึ้นไป  เพื่อประหยัดแรงในการเดิน  โดยเฉพาะการเดินลงจากเขา

(ผู้เขียน ขี่ม้าขึ้นเขาวัดรังเสือ)

               ตลอดทางของการเยาะย่างของม้าขึ้นไปบนเขา  เป็นเส้นทางที่ร่มรื่น  ชื่นใจยิ่งนัก  เพราะป่าสองข้างทางช่างอุดมสมบูรณ์อย่างที่ไม่อาจหาได้ในป่าของประเทศไทย

               เราจะเห็นเฟิร์น  มอส  และ ไลเค่น เกาะอยู่ตามต้นไม้ และก้อนหิน ค่อยๆหนาตัวขึ้นเรื่อยๆตามระดับความสูง   บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของป่า   จนเราต้องรีบสูดอากาศที่บริสุทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

(มอส และ ไลเค้น ที่เกาะตามหินต่างๆ อยู่เต็มไปตลอดทั้งสองข้างทาง )

               ม้านำเรามาจนถึงหน้าผาของภูเขา  ซึ่งเป็นจุดที่สามารถชมวิวของวัดรังเสือในมุมที่สวยที่สุดได้   ทุกคนหายเหนื่อยเมื่อได้เห็นภาพวัดรังเสือเบื้องหน้า   เพื่อเตรียมเหนื่อยในการเดินลงและขึ้นบันไดไปยังวัดรังเสือที่อยู่บนเขาอีกลูกเบื้องหน้า

(น้ำตกที่แสนชุ่มฉ่ำเสมือนเป็นการให้รางวัลความเหนื่อยยาก)

               เริ่มต้นเราต้องเดินลงบันไดที่สูงกว่าตึก 8 ชั้นลงไปก่อน  แล้วเดินเฉียดน้ำตกขนาดใหญ่ที่กระจายฝอยน้ำไปทั่วบริเวณ  จนต้องยืนหลับตาให้ละอองน้ำฟุ้งเข้ามาที่ใบหน้าด้วยความชื่นใจ

               หายเหนื่อยไปได้หน่อยหนึ่ง   แต่จากนี้  ต้องเดินขึ้นบันไดไปที่วัด   ซึ่งหมายความว่า   เราจะต้องเดินขึ้นบันไดในระดับความสูงของตึก 8 ชั้น   เหมือนที่เราเดินลงมา

(มองลงมาจากจุดชมวิว  เห็นหุบเขาเมืองพาโรอยู่เบื้องล่าง)

               วัดรังเสือ เป็นวัดที่เชื่อกันว่า  กูรูรินโปเช   ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวภูฐาน เสมือนพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 ของเขา ได้ขี่เสือมาจากทิเบต มาลงที่ยอดเขาแห่งนี้   และได้ใช้สถานที่แห่งนี้ปฎิบัติธรรม

               นั่นคือในศตวรรษที่ 7 หรือประมาณ 1400 ปีที่แล้ว

               ศาสนาพุทธของชาวภูฐานนั้น  เป็นศาสนาพุทธแบบมหายาน  ผสมลัทธิบอน ซึ่งเป็นลัทธิที่นับถือภูตผีปีศาจของคนยุคโบราณ  ผสมกับ นิกายลามะ ของทิเบต   

ดังนั้น   จึงแตกต่างจากพุทธแบบหินยานของไทยมาก  และ ห่างจากนิกายลามะ ของทิเบตพอสมควร   แม้ว่า  จะใช้ตัวหนังสือของชาวทิเบตในการจารึกคัมภีร์ทางศาสนา   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   คำว่า

โอม เม ณี ปา เม หุง 

บนวัดมีหินแกรนิตก้อนหนึ่ง  มีรูอยู่บนก้อนหินให้นักท่องเที่ยวได้ทดสอบเล่นสนุกกัน  แต่ก็แฝงธรรมะเอาไว้ด้วย

ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า   ใครก็ตามที่ปิดตายืนนิ้วโป้งออกไปข้างหน้า  แล้วเดินจากจุดที่เขากำหนดซึ่งห่างจากรูบนก้อนหินประมาณเมตรครึ่ง  แล้วสามารถเอานิ้วโป้งจิ้มเข้าไปในรูได้พอดี   คนๆนั้นจะสามารถทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้หมดในชาตินี้

ปรากฏว่า   นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างก็พากันมาลองดู   ดูเหมือนไม่น่าจะยาก  แต่ไม่มีใครสามารถทำได้สำเร็จ 

เป็นปรัชญาธรรมอีกข้อหนึ่งที่เตือนสติเราว่า 

บุญคุณของพ่อแม่นั้น   ไม่มีทางที่เราจะทดแทนบุญคุณท่านได้หมด   ไม่ว่าจะอีกกี่ภพกี่ชาติก็ตาม  

บทความนี้มาล่าจาก “วันแม่” สักหน่อย   แต่คิดว่า  คงไม่ล้าสมัยนะครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *