คลีโอพัตรา-จูเลียส ซีซาร์-มาร์ค แอนโทนี 3 คนผัวเมีย

ซอกซอนตะลอนไป 2

คลีโอพัตรา-จูเลียส ซีซาร์-มาร์ค แอนโทนี 3 คนผัวเมีย
โดย  เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ผมดูข่าวการประท้วง  ความวุ่นวาย และมีผู้เสียชีวิตมากมาย ในประเทศอียิปต์แล้วรู้สึกสลดใจอย่างยิ่ง   เพราะอียิปต์เป็นประเทศที่ผมชอบ   ทั้งในแง่ความเก่าแก่ของอารยธรรม  ประวัติศาสตร์  และ  สภาพอากาศที่สบายเหลือเกินในช่วงปลายปี

คิดถึงเพื่อนหลายคนในอียิปต์ ที่คงต้องลำบากมากทีเดียว  เพราะพวกเขาดำรงชีพด้วยการท่องเที่ยว

บังเอิญเปิดดูหนังสือประวัติศาสตร์โรมัน เห็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอียิปต์ที่น่าสนใจ  ก็เลยขอนำมาเล่าให้ฟังครับ

เมื่อวานนี้   หรือ วันที่ 1 สิงหาคม 2556  เป็นวันครบรอบ 2043 ปี ของการผนวกเอาอาณาจักรอียิปต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปี ก่อนคริสตกาล เมื่อออคเทเวียน ผู้เป็นหลานของ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งต่อได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมัน พระนามว่า  จักรพรรดิ ออกุสตุส ได้นำกองทัพเรือติดตามกองทัพเรือของ มาร์ค แอนโทนี ไปขึ้นฝั่งที่เมืองอเล็กซานเดรีย

เป้าหมายก็คือ  จับตัวมาร์ค แอนโทนี  และ กำจัด พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7  ให้ได้

ก่อนหน้านั้น  เมื่อจูเลียส ซีซาร์ ถูกลอบสังหารในโรงละครปอมเปอี ขณะกำลังจะเดินเข้าไปประชุมวุฒิสภา  มาร์ค แอนโทนี ได้ร่วมกับ ออคเทเวียน  และ  มาร์คัส เอมีลิอุส เลปิดุส  สถาปนา “สามพันธมิตร ครั้งที่ 2 ” ขึ้นมา   เพื่อตามล่าผู้ที่ร่วมกันลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์

(รูปสลักจูเลียส ซีซาร์)

เมื่อปราบปรามผู้สังหารจูเลียส ซีซาร์ได้หมดแล้ว   ก็แบ่งดินแดนต่างๆของโรมให้พันธมิตรแต่ละคนไปดูแล   โดยที่มาร์ค แอนโทนี ได้ดูแลอียิปต์ เสมือนรัฐในอารักขา

มาร์ค แอนโทนี  ออกคำสั่งให้ พระนางคลีโอพัตรา เดินทางไปเขาที่เมืองทาร์ซุส(TARSUS) ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกีใกล้พรมแดนประเทศซีเรีย   เพื่อจะกล่าวโทษต่อ พระนางคลีโอพัตรา ว่า  ไม่ให้ความช่วยเหลือ “สามพันธมิตรครั้งที่ 2” ในตอนที่ทำสงครามกวาดล้างพวกที่ลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์

(รูปสลัก มาร์ค แอนโทนี)

แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร

พระนางคลีโอพัตรา น่าจะเป็นหญิงที่มีเสน่ห์เร้าใจ  และ  รู้จักวิธีการบริหารเสน่ห์ให้มัดใจชายอย่างรวดเร็ว   และรู้ว่า   ผู้ชายมีจุดอ่อนอย่างไร

(อลิซาเบธ เทย์เลอร์ ในบท คลีโอพัตรา)

ยิ่งไปกว่านั้น   ในสถานการณ์แบบนี้   เธอไม่มีทางเลือกอื่นที่จะทำให้ราชวงศ์ปโตเลมี  แผ่นดินอียิปต์  และ บรรดาลูกๆของเธออยู่รอดปลอดภัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ออคเทเวียน  หลานชายของ จูเลียส ซีซาร์ และเป็นรัชทายาทที่ได้รับการแต่งตั้งตามพินัยกรรมของจูเลียส ซีซาร์

มาร์ค แอนโทนี  เคยพบ พระนางคลีโอพัตรา มาก่อนในช่วงที่เขาเป็นนายทหารคนสนิทของ จูเลียส ซีซาร์  หรือ  พูดง่ายๆก็คือ  คนสนิทของสามีเก่าของพระนางนั่นเอง

พบกันครั้งนี้  คลีโอพัตรา หว่านเสน่ห์ใส่ มาร์ค แอนโทนี โครมใหญ่  มาร์ค แอนโทนี ก็หลงไหลเสน่ห์ของ คลีโอพัตราอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ออคเทเวียน เองก็พยายามจะสานความสัมพันธ์ กับ มาร์ค  แอนโทนี ด้วยการยก ออคเทเวีย พี่สาวของตนให้แต่งงานกับ มาร์ค แอนโทนี  ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมปฎิบัติกันในยุคโรมันโบราณ

กระนั้น  ก็ไม่อาจดึงมาร์ค แอนโทนี่ ขึ้นมาจากหลุมดำแห่งเสน่ห์ของ พระนางคลีโอพัตรา ได้

เรื่องราวความรักอันหวานชื่น ระหว่างมาร์ค แอนโทนี กับ พระนางคลีโอพัตรา นั้นมีอยู่หลายเรื่อง  ผมจะนำมาเล่าในตอนต่อๆไปครับ

เมื่อมาร์ค แอนโทนี หลงใหลในตัว คลีโอพัตรา อย่างไม่ลืมหูลืมตา  ทิ้งภรรยา ผู้เป็นพี่สาวของออคเทเวียน ให้ต้องทนขมขื่นอยู่ในโรม  ซึ่งเท่ากับเป็นการหยามเกียรติผู้หญิงอย่างรุนแรง

สถานการณ์ก็เข้าทางของออคเทเวียน ในการขจัดคู่แข่งของตนเองออกไปพร้อมกันทีเดียวสองคน

คนหนึ่ง คือ มาร์ค แอนโทนนี ทหารคนสนิท ของจูเลียส ซีซาร์  ที่ดูท่าว่าชาวโรมันจะยังศรัทธาต่อเขาอยู่   กับ พระนางคลีโอพัตรา ซึ่งให้กำเนิดทายาทชายคนเดียวของจูเลียส ซีซาร์ ที่อาจจะอ้างสิทธิเหนือบัลลังค์ของโรมได้

(รูปสลัก ออคเทเวียน)

ด้วยเหตุผลทางการเมืองอื่นๆอีกหลายข้อ    ออคเทเวียน ก็ประกาศสงครามกับ อียิปต์ ซึ่งขณะนั้นมีแม่ทัพชื่อ  มาร์ค แอนโทนี

การรบที่ชี้เป็นชี้ตายของมาร์ค แอนโทนี ก็คือ การรบทางทะเลที่นอกฝั่งเมือง แอคเทียม  ใกล้ประเทศกรีซ

แอนโทนี ออกเรือจากสนามรบทิ้งทหารของเขาทั้งหมดในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน   เพราะเข้าใจว่า  พระนางคลีโอพัตรา  ถอนทัพกลับอเล็กซานเดรีย   ทำให้บรรดาทหารหมดความศรัทธาในตัว แอนโทนี ทันที

เมื่อมาถึง อเล็กซานเดรีย   แอนโทนี ได้ข่าวว่า   พระนางคลีโอพัตรา ฆ่าตัวตายแล้ว  และไม่มีทหารคนใดเอาด้วยกับเขา  เขาจึงฆ่าตัวตาย

พระนางคลีโอพัตรา เองก็ฆ่าตัวตายด้วยการให้งูพิษกัด   เพราะไม่ต้องการให้ ออคเทเวียน จับตัวเป็นๆไปเป็นเชลย

ซีซาเรียน โอรสของพระนางคลีโอพัตรา กับ จูเลียส ซีซาร์  ถูก ออคเทเวียน ตามจับตัวได้ระหว่างทางที่หนีออกจากอเล็กซานเดรีย  และถูกสังหาร

นับแต่วันนั้นมา   อียิปต์ก็ถูกผนวกเป็นของโรมัน จนชาวอาหรับแผ่อิทธิพลเข้ามาแทนที่ในช่วงที่อาณาจักรโรมันเสื่อมอำนาจลง

เมื่อหันมาดูอียิปต์ในวันนี้  ก็เป็นห่วงว่าจะย้อนกลับไปเหมือนอียิปต์เมื่อ 2 พันกว่าปีที่แล้วอีกหรือไม่   แต่คราวนี้  จะด้วยฝีมือพวกเดียวกันเอง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ซอกซอนตะลอนไป                   (2 สิงหาคม 2556)

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *