วันไอเดส ของ มีนาคม 44 ปีก่อนคริสตกาล
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ทุกๆช่วงระหว่างวันที่ 14 ถึง 16 ของทุกเดือน เป็นช่วงเวลาแห่งปรากฎการณ์สำคัญของดวงดาวบนท้องฟ้าตามปฎิทินโหราศาสตร์ เพราะเป็นช่วงที่ พระอาทิตย์(๑)จะย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง
และวันนี้ ซึ่งก็คือ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2558 ก็เช่นกัน
พระอาทิตย์(๑)จะยกจากราศีกุมภ์ เข้าสู่ ราศีมีน ซึ่งมีนัยยะในเรื่องปรากฎการณ์ของโลกหลายเรื่องทีเดียว
(จะเห็นลูกศรชี้ที่ดาวอาทิตย์(๑) ตรงรอยต่อระหว่างราศีกุมภ์ และ ราศีมีน)
เดือนมีนาคมของปีนี้ เป็นช่วงเวลาของเทศกาลเช็งเหม็งของจีน อันเป็นเทศกาลรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และก่อนหน้านั้นไม่กี่วันคือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ก็เป็นวันตรุษจีน
วันตรุษจีน เป็นการประกาศในหมู่ชาวจีนให้รับรู้ทั่วกันว่า ฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว
วันตรุษจีนจะขยับไปขยับมาระหว่างเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ ทั้งนี้เพราะ จีนใช้ปฎิทินตามแบบจันทรคติ ซึ่งเป็นธรรมชาติของปฎิทินแบบนี้ที่เดือน และ วัน อาจจะขยับได้บ้าง จนต้องมีการทดวันกันเพื่อให้ได้วันของเทศกาลใกล้เคียงกันทุกปี
ที่น่าสนใจก็คือ วันตรุษจีนของทุกปี จะเป็นช่วงพระจันทร์ดับ หรือ จันทร์อมาวสี หรือ พระจันทร์(๒)กับพระอาทิตย์(๑) จะทับกันสนิท หรือ แทบสนิทองศา
(ลูกศรชี้ที่ดาวอาทิตย์(๑) ข้างบน และ ดาวจันทร์(๒) ข้างล่าง) ในวันตรุษจีน 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558)
วันที่ 15 ของเดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2558 นี้ พระอาทิตย์(๑)ยกจากราศีกุมภ์ เข้าราศีมีน ซึ่งก็คงจะไม่แตกแต่งไปจาก วันที่ 15 มีนาคม เมื่อปี 44 ก่อนคริสตกาล
หรือเมื่อประมาณ 2059 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญของประวัติศาสตร์โลกที่ผู้คนกล่าวขานถึงอย่างต่อเนื่อง
เพราะเป็นวันที่ จูเลียส ซีซาร์ ถูกลอบสังหารในขณะที่กำลังจะเข้าไปรายงานต่อวุฒิสภา เพื่อเดินทางไปทำสงครามกับชนเผ่าพาร์เทียน ที่อยู่ในประเทศอิหร่านปัจจุบันนี้
ชาวโรมันเรียกวันที่ 15 ของเดือนมีนาคมว่า วันไอเดส (IDES)
และไม่เพียงแต่วันที่ 15 ของเดือนมีนาคมเท่านั้น วันที่ 15 ของเดือนพฤษภาคม ของเดือนกรกฎาคม และ ของเดือนตุลาคม ก็เรียกว่า วันไอเดสด้วย
นอกจากนี้ วันไดเดสยังหมายถึง วันที่ 13 ของเดือนเกือบทั้งหมดที่เหลือด้วย
ทั้งนี้ เพราะวิธีนับวันตามปฎิทินของพวกโรมันโบราณ มิได้นับเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันสุดทุดท้ายของเดือน แต่พวกโรมันจะนับจากจุด หรือ เวลาที่ตายตัวจุดหนึ่งจของเดือนไป เช่น
วันโนเนส(NONES)จะเป็นวันที่ 5 หรือ วันที่ 7 ของเดือน ตามแต่ว่าเดือนนั้นจะมีกี่วัน , วันไอเดส ก็คือวันที่ 13 หรือ 15 ของแต่ละเดือน และ วันคาเลนด์(KALEND) ก็คือวันที่ 1 ของเดือนถัดไป
เข้าใจว่า เวลาชาวโรมันโบราณจะพูดจากนัดหมายกัน ก็จะอ้างถึงวันดังกล่าว เช่น ก่อนวันโนเนส 5 วัน , หลังวันไอเดส 7 วัน หรือ หลังวันคาเลนด์ไป 3 วัน เป็นต้น
บันทึกของโรมันระบุว่า ปฎิทินของโรมันโบราณ กำหนดให้ วันไอเดส ตรงกับวันที่พระจันทร์(๒)เพ็ญ แต่เมื่อผมตรวจดูปฎิทินจากโปรแกรมของอาจารย์วิเลิศ จิว ก็ปรากฏว่า พระจันทร์(๒)ไม่เพ็ญ ซ้ำกำลังจะดับด้วย
(วันไอเดส ของปีพ.ศ. 2558 ตำแหน่งของดาวอาทิตย์(๑) ข้างบน ดาวจันทร์(๒)อยู่ข้างล่าง)
กล่าวคือ พระจันทร์(๒)จะอยู่ที่ราศีธนูประมาณ 15 องศา ในขณะที่พระอาทิตย์(๑)อยู่ที่ราศีกุมภ์ที่ประมาณ 29 องศา 59 ลิปดา
หมายความว่า พระจันทร์(๒)ผ่านจุดที่เพ็ญสุดมาแล้วประมาณ 9 วัน ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนของปฎิทินที่ไม่ตรงกับปรากฎการณ์ของดวงดาวบนท้องฟ้า
จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งขณะนั้น มีอำนาจยิ่งใหญ่ล้นฟ้า เพราะดำรงตำแหน่ง เผด็จการตลอดชีพ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในช่วงวิกฤติการณ์ของโรม เพื่อให้เขาสามารถใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในอำนาจเพียงแค่ 6 เดือน เท่านั้น แต่ซีซาร์ อยู่ในอำนาจนานกว่านั้น
นอกจากนี้ เขายังแสดงพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ฝักใฝ่ในแนวคิดแห่งอำนาจเผด็จการแต่เพียงผู้เดียว ด้วยการสวมผ้าคลุม สวมมงกุฎ และ รับคฑา ที่เป็นสัญลักษณ์ของนายพลที่ได้รับเกียรติแบบพิเศษด้วยการให้การต้อนรับแบบเฉลิมฉลองชัยชนะ
(รูปสลักของ จูเลียส ซีซาร์)
นอกจากนี้ จูเลียส ซีซาร์ ยังถืออำนาจอิมพอร์เรเตอร์ ที่คล้ายๆอำนาจแบบจักรพรรดิ หรือ อำนาจของกษัตริย์ ที่ชาวโรมันรังเกียจเป็นอย่างยิ่งจนต้องปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบ สาธารณรัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น จูเลียส ซีซาร์ ยังดำรงตำแหน่ง ปอนติเฟกซ์ แมกซิมุส(PONTIFEX MAXIMUS)หรือ ตำแหน่งสังฆราชา ผู้นำทางศาสนาของโรมันอีกด้วย
จึงดูเหมือนว่า จูเลียส ซีซาร์ ถืออำนาจเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวในโรม
ด้วยเหตุนี้ จึงมีวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งวางแผนลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์เสีย บุคคลเหล่าก็อาทิเช่น ไกอุส แคสซิอุส(GAIUS CASSIUS) และ มาร์คัส จูนิอุส บรูตุส(MARCUS JULIUS BRUTUS) ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกเลี้ยง หรือ อาจเป็นลูกที่แท้จริงของจูเลียส ซีซาร์ก็ได้
ว่ากันว่า ก่อนหน้านั้นหลายวัน พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 แห่งอียิปต์ ซึ่งเป็นชู้รักของจูเลียส ซีซาร์ ได้ให้หมอดูมาพยากรณ์ของ จูเลียส ซีซาร์ ที่อยู่ห่างไกลออกไปนับพันกิโลเมตร
ดูเหมือนว่า พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 มองเห็นลางร้ายของจูเลียส ซีซาร์ แล้ว พยายามจะเตือนซีซาร์ ให้ทราบก่อน แต่ไม่ทัน
(รูปสลักของ พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 )
บังเอิญบันทึกประวัติศาสตร์ไม่ได้ระบุว่า หมอดูที่พยากรณ์ดวงชะตาของจูเลียส ซีซาร์ นั้น เป็นหมอดูไพ่ยิปซี หรือ เลขเจ็ดตัว หรือ เทพพยากณ์ ก็เลยยังเป็นความลับดำมืดอยู่
ช่วงเช้าของวันที่ 15 มีนาคม ปี 44 ก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ เดินเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา พร้อมด้วย มาร์ก แอนโทนี ซึ่งเป็นทหารคนสนิท
(ภาพสลักของ มาร์ก แอนโทนี)
แต่มาร์ก แอนโทนี ถูกหนึ่งในบรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดวางแผนสังหารจูเลียส ซีซาร์ กักตัวเอาไว้อ้างว่า จะขอปรึกษาเรื่องกฎหมาย จูเลียส ซีซาร์ จึงเดินเข้าไปในวุฒิสภาแต่ลำพัง
มีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับวุฒิสภา ระบุว่า ผู้ที่จะเข้าไปในที่ประชุมวุฒิสภา จะต้องเข้าไปตัวเปล่า ห้ามนำอาวุธติดตัวไปด้วย หากใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษถึงชีวิต
ที่ประชุมวุฒิสภา จึงน่าจะเป็นที่ที่ปลอดภัยมาก
แต่สถานที่ที่ปลอดภัยมากๆ ก็อาจจะเป็นสถานที่ที่อันตรายที่สุด
จูเลียส ซีซาร์ ถูกบรรดาผู้ร่วมก่อการรุมทำร้ายด้วยมีด และ กริช จนจูเลียส ซีซาร์ เสียชีวิตในห้องประชุมวุฒิสภานั่นเอง
(ภาพสลักนูนต่ำ บรรยายเรื่องราวการถูกลอบสังหารของ จูเลียส ซีซาร์)
นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม ปี 44 ก่อนคริสตกาล หรือ ที่โรมันเรียกว่า วันไอเดสแห่งเดือนมีนาคม นั่นเอง
ชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง